กทท.เผยไตรมาสแรกปี 65 มีรายได้สุทธิ 3,857 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.75% ปริมาณตู้สินค้าท่าเรือกรุงเทพและแหลมฉบัง เพิ่ม 5.78% ส่วนท่าเรือระนองพุ่ง 127.64% สัญญาณดี คาดส่งออกโต 4% ต่อปี ส่วนเชียงแสนและเชียงของกระทบเหตุจีนปิดท่าเรือกวนเหล่ย
นายเกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานของกทท.ในการให้บริการเรือ สินค้า และตู้สินค้าผ่านท่าเรือกรุงเทพ (ทกท.) ท่าเรือแหลมฉบัง (ทลฉ.) ท่าเรือพาณิชย์เชียงแสน (ทชส.) ท่าเรือเชียงของ (ทชข.) และท่าเรือระนอง (ทรน.) ช่วงไตรมาสแรก หรือรอบ 3 เดือน ประจำปีงบประมาณ 2565 (ตุลาคม 2564 – ธันวาคม 2564) ภาพรวมมีเรือเทียบท่าที่ ท่าเรือกรุงเทพ และ ท่าเรือแหลมฉบังรวม 3,721 เที่ยว เพิ่มขึ้น 13.10% สินค้าผ่านท่า 14.605 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 2.02% และตู้สินค้าผ่านท่า 2.444 ล้าน ที.อี.ยู. เพิ่มขึ้น 5.78% คิดเป็นรายได้สุทธิ 3,857 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.75% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า
โดยเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สรุปดังนี้
ท่าเรือกรุงเทพ มีเรือเทียบท่า 1,092 เที่ยว เพิ่มขึ้น 15.19% สินค้าผ่านท่า 4.521 ล้านตัน ลดลง 13.97% ตู้สินค้าผ่านท่า 0.309 ล้าน ที.อี.ยู. ลดลง 14.90%
ท่าเรือแหลมฉบัง มีเรือเทียบท่า 2,629 เที่ยว เพิ่มขึ้น 12.25% สินค้าผ่านท่า 10.084 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 11.31% ตู้สินค้าผ่านท่า 2.134 ล้าน ที.อี.ยู. เพิ่มขึ้น 9.65%
ท่าเรือพาณิชย์เชียงแสน มีเรือเทียบท่า 431 เที่ยว ลดลง 19.59% สินค้าผ่านท่า 21,432 ตัน เพิ่มขึ้น 2.39% ตู้สินค้าผ่านท่า 872 ตู้ ลดลง 26.38%
ท่าเรือเชียงของ ไม่มีเรือเทียบท่าและไม่มีสินค้าผ่านท่า เนื่องจากการปิดท่าเรือกวนเหล่ย สาธารณรัฐประชาชนจีน ทำให้ปริมาณสินค้าจากสาธารณรัฐประชาชนจีนผ่านแม่น้ำโขงลดลงอย่างมาก
ท่าเรือระนอง มีเรือเทียบท่า 59 เที่ยว เพิ่มขึ้น 68.57% สินค้าผ่านท่า 32,974 ตัน เพิ่มขึ้น 127.64% ตู้สินค้า ผ่านท่า 1,010 ตู้ เพิ่มขึ้น 135.98%
ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2565 ยังคงส่งสัญญาณที่ดี โดยจะขยายตัวเฉลี่ย 4% ต่อปี ขณะที่การส่งออกสินค้าคาดว่าจะขยายตัวเฉลี่ยที่ 4% ต่อปี ตามอุปสงค์โลกที่ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง สะท้อนการเติบโตของตู้สินค้าส่งออกที่สูงขึ้น โดยมีปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญจากมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) จากทุกประเทศทั่วโลก รวมทั้งมีการจ้างงานที่ดีขึ้น และการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ในสหภาพยุโรป ส่งผลให้ภาคการบริการฟื้นตัว ผลักดันให้เศรษฐกิจยุโรปเติบโตเร็วขึ้น อีกทั้งภาคการผลิตทั่วโลกยังคงขยายตัวดีอย่างต่อเนื่อง
อ้างอิง
https://m.mgronline.com/business