กรุงเทพประกันภัย 3 เดือนแรก เคลมโควิดทะลัก 2.3 พันล้าน

กรุงเทพประกันภัย 3 เดือนแรก เคลมโควิดทะลัก 2.3 พันล้าน

กรุงเทพประกันภัย ยอมรับปี’65 เคลมโควิด เอฟเฟ็กต์ผลขาดทุนจากการรับประกันภัยเป็นปีที่ 2 คาดการณ์จ่ายเคลมโควิดส่วนเกินจนถึง พ.ค.65 อีกกว่า 4,600 ล้านบาท รวม 2 ปีคาดจ่ายเคลมสูงกว่า 7,700 ล้านบาท คิดเป็นกว่า 10 เท่าของเบี้ยรับ ล่าสุดจนถึง 10 มี.ค.เคลมโควิดคงค้างกว่า 2,370 ล้านบาท

วันที่ 12 มีนาคม 2565 ดร.อภิสิทธิ์ อนันตนาถรัตน ประธานคณะผู้บริหารและกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท กรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน) หรือ BKI เปิดเผยว่า สิ้นปี 2564 กรุงเทพประกันภัยมียอดจ่ายเคลมประกันภัยโควิดเจอจ่ายจบรวมค่ารักษาพยาบาลต่างๆ จำนวนทั้งหมด 3,726 ล้านบาท ในขณะที่มีเบี้ยประกันภัยรับแค่ 670 ล้านบาท

โดยภาพรวมมีจำนวนกรมธรรม์ประกันภัยโควิดเจอจ่ายจบอยู่ประมาณ 1.3 ล้านฉบับ และจะทยอยหมดอายุความคุ้มครองภายในวันที่ 21 เม.ย.65 สัดส่วนประมาณสัก 70% และที่เหลืออีก 30% จะหมดอายุความคุ้มครองภายในเดือน พ.ค.65

ทั้งนี้ยอดจ่ายเคลมประกันภัยโควิดในปี 2565 จนถึงวันที่ 10 มี.ค.65 มีเคลมเข้ามาค่อนข้างมากกว่าที่คาดไว้ เพราะในช่วง 69 วันของปีนี้ (1ม.ค.-10 มี.ค.65) มียอดจ่ายเคลมประกันภัยโควิดที่ได้แจ้งเคลมเข้ามายังบริษัทแล้ว มูลค่าคงค้างที่ 2,370 ล้านบาท โดยเฉลี่ยยอดเคลมประกันภัยโควิดที่จ่ายออกไปตั้งแต่ต้นปี ประมาณ 34 ล้านบาท

“ยอดเคลมต้นปีจริงๆ ต่ำมากๆ แค่ 6-8 ล้านบาท แต่เริ่มมาพีกตอนช่วงวันที่ 1-10 มี.ค.65 ซึ่งเรายังเชื่อว่าจะพีกไปต่ออีกภายใน 1 สัปดาห์ข้างหน้า แล้วคาดว่ายอดเคลมน่าจะค่อยๆ เริ่มถอยลงได้บ้าง” ดร.อภิสิทธิ์ กล่าว

โดยคาดการณ์บริษัทต้องจ่ายเคลมประกันภัยโควิดของปีนี้ที่เป็นส่วนเกิน(surplus) เป็นจำนวน 4,500-4,600 ล้านบาท ทำให้จนกว่ากรมธรรม์ประกันภัยโควิดจะหมดอายุความคุ้มครอง บริษัทต้องจ่ายเคลมรวมทั้งหมดราว 7,700 ล้านบาท หรือคิดเป็นกว่า 10 เท่าของเบี้ยรับประกันโควิด

“ผู้ติดเชื้อโควิดโอมิครอนโอกาสติดเชื้อทั้งครอบครัวมีค่อนข้างสูงกว่าเมื่อเทียบกับเดลต้า ทำให้ยอดเคลมประกันภัยโควิดอยู่ในสัดส่วนที่สูงกว่าปีก่อน”

อย่างไรก็ตาม แม้ผลกระทบจากยอดเคลมประกันภัยโควิดจะมีผลต่อฐานะเงินกองทุนฯ(CAR) ของบริษัทบ้าง แต่ไม่มีนัยสำคัญ เพราะบริษัทมีเงินกองทุนส่วนเกิน ในส่วนของสินทรัพย์ลงทุนอยู่กว่า 30,000 ล้านบาท ซึ่งหนามากพอทีเดียว

แต่ทั้งนี้ยอมรับว่าในปี 65 บริษัทจะยังมีผลขาดทุนจากการรับประกันภัยเป็นปีที่ 2 โดยจากปี 64 บริษัทมีผลขาดทุนจากการรับประกันภัย 383 ล้านบาท ส่วนหนึ่งที่มีผลขาดทุนไม่มาก เป็นเพราะมีกำไรจากประกันภัยประเภทอื่น เช่น ประกันภัยรถยนต์ ประกันภัยเบ็ดเตล็ด ประกันภัยขนส่ง และประกันอัคคีภัย

แต่ปีนี้ผลกระทบยอดเคลมประกันภัยรถยนต์จะกลับมาปกติ เพราะฉะนั้นอัตราความเสียหาย(Loss Ratio) มีโอกาสจะขยับขึ้น ส่งผลให้กำไรจากการรับประกันภัยเข้ามาช่วยน้อยลง ทำให้คาดว่าผลขาดทุนจากการรับประกันภัยอาจจะเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบปีที่ผ่านมา

แต่ทั้งนี้บริษัทคาดหวังมีกำไรจากการลงทุนเข้ามาสนับสนุน ทั้งกำไรหุ้นทุน ดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารที่มีอยู่มากกว่า 6,000 ล้านบาท และดอกเบี้ยของพันธบัตรรัฐบาล

ทั้งนี้บริษัทตั้งเป้าเบี้ยประกันภัยรับรวมปี 65 อยู่ที่ 25,736 ล้านบาท เติบโต 5% จากปีก่อน คาดหวังจากยอดขายผลิตภัณฑ์ใหม่ ประกอบด้วย

1.ประกันรถยนต์ไฟฟ้า(EV) ไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท จากปี 64 ที่มีเบี้ยรับ 25 ล้านบาท โดยพอร์ตประกันรถอีวีคิดเป็นส่วนหนึ่งของพอร์ตประกันมอเตอร์ทั้งหมด 40% ที่มีเบี้ยรวมกว่า 10,000 ล้านบาท

2.ประกันภัยอาชญากรรมทางไซเบอร์เจาะกลุ่ม SME เพื่อรองรับฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล(PDPA) ไม่ต่ำกว่า 200 ล้านบาท จากปี 64 มีเบี้ยรับ 65 ล้านบาท

3.ประกันคุ้มครองธุรกิจ SME แบบแพ็กเกจ เป้าเบี้ยไม่ต่ำกว่า 50 ล้านบาท เน้นขายผ่านช่องทางคู่ค้า เจาะกลุ่มลูกค้าร้านอาหาร โชห่วย ร้านทำฟัน อพาร์ตเม้นท์ เป็นต้น

“ปัจจุบันเซเว่นอีเฟเว่นทั่วประเทศ ก็ซื้อประกันคุ้มครองร้านกับทางบริษัท ซึ่งครอบคลุมความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ ถูกจี้ปล้น เป็นต้น”

4.ประกันสุขภาพคุ้มครองทั้งผู้ป่วยในผู้ป่วยนอก และปีนี้จะสร้างบริการเทเลเมดิซีนเพิ่มอีก 3 แพลตฟอร์มเพื่อให้ลูกค้าใช้งาน

อ้างอิง
https://www.prachachat.net/finance